เทคนิคการแต่งคำประพันธ์สำหรับนักเรียนฉบับเข้าใจง่าย ถูกใจครูแน่นอนนนน

      🙏สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่กำลังเป็นนักเรียนอยู่นะคะ เคยลำบากใจกันมั้ยเอ่ยเวลาที่เรียนวิชาภาษาไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำประพันธ์ บทประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย เรียนเนื้อหาเฉย ๆ คงไม่เท่าไหร่ค่ะ แต่ถ้าครูสั่งการบ้านให้แต่งคำประพันธ์เมื่อไหร่ ตุยยยยยยยย😱 เหงื่อตกกันเลยใช่มั้ยล่ะคะ😅

ดังนั้นนะคะวันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคแต่งคำประพันธ์ของเราให้ทุกคนได้อ่านและนำไปลองใช้กันค่ะ ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราก็เป็นเพียงนักเรียนมัธยมปลายคนนึงที่มีความชอบในวิชาภาษาไทย สนใจและชื่นชอบการแต่งคำประพันธ์ จนครูหลายคนเห็นแววและได้ออกงานประกวดมาเยอะในระดับนึงค่ะ ได้รางวัลใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามประสาเด็กม.ปลายสายประกวด ดังนั้นเทคนิคที่เราจะนำมาแชร์เพื่อน ๆ ในต่อไปนี้ เป็นเทคนิคส่วนตัวของเราเองค่ะ ไม่มีในตำราหรือแบบแผนที่แน่นอน อยากให้ทุกคนได้อ่านเพื่อนำไปปรับใช้ในแบบของตัวเองกันนะคะ

👇เทคนิคการแต่งคำประพันธ์ฉบับเข้าใจง่าย ถูกใจครูแน่นอน👇

1.กำหนดหัวข้อ

การกำหนดหัวข้อคำประพันธ์ของเราจะทำให้เราได้ทราบถึงขอบเขตและใจความหลักที่เราต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจค่ะ โดยมีกรณีต่าง ๆ ดังนี้

ถ้าครูกำหนดหัวข้อให้ ในกรณีนี้ควรเริ่มจากการตีความหัวข้อนั้นให้แตกก่อนค่ะ เช่น หากได้หัวข้อ "อาหารไทยถูกใจต่างชาติ" เราก็ต้องวิเคราะห์ว่า มีอาหารไทยชนิดใดบ้างที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ หากกำหนดอาหารดังกล่าวแล้วก็เริ่มแต่งบทประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้น ลงดีเทลต่าง ๆ ความโดดเด่นของอาหาร รสชาติ หน้าตา และสิ่งที่อาหารชนิดนี้มัดใจชาวต่างชาติได้ เช่นนี้เป็นต้นค่ะ

หากได้หัวข้อที่เป็นวงกว้าง เช่น "ประเพณีไทย" อาจจะฟังดูยากค่ะ เพราะประเพณีไทยมีมากมายนับไม่ถ้วนซะเหลือเกิน แต่เราสามารถแต่งคำประพันธ์ออกมาเป็นวงกว้างได้เหมือนกันค่ะ เช่น พูดถึงประเพณีไทยหลาย ๆ อย่าง และใส่จุดเด่นของประเพณีนั้น ๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่เราขอแนะนำวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือกำหนดมาเลยค่ะแค่1ประเพณี อาจจะเป็นประเพณีที่เราชอบที่สุดหรือใกล้ตัวมากที่สุด เพราะจะทำให้เราแต่งบทประพันธ์ได้ออกมาละเอียดชัดเจนมากกว่า เช่นนี้เป็นต้นค่ะ

หากต้องกำหนดหัวข้อเอง หลาย ๆ คนอาจจะดีใจที่ไม่ถูกจำกัด และเป็นเรื่องง่ายหากจะคิดหัวข้อขึ้นมาเอง แต่ถ้าหากเราคิดไม่ออกจริง ๆ ให้หาแรงบัลดาลใจค่ะ อาจจะไปอ่านหนังสือสักเล่ม ดูซีรีย์สักเรื่อง ฟังเพลงสักเพลง หาสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในสังคม มองไปรอบ ๆ ตัวว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง หรือหยิบยกเรื่องที่เราชอบ คิดว่าแต่งได้ง่ายก็ยังได้ค่ะ


2.เรียงลำดับการเล่าเรื่อง (วางโครงเรื่อง)📑

เรียงลำดับการเล่าเรื่องในแต่ละวรรค / บท ให้ชัดเจน ให้นึกถึงการเขียนเรียงความคือต้องมี คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป การแต่งคำประพันธ์ก็เช่นเดียวกัน ต่างเพียงแค่ถ่ายทอดออกมาคนละรูปแบบ จะทำให้บทประพันธ์ของเราดูมีเรื่องราว และเนื้อหาไม่วกไปเวียนมาจนทำให้ครูงงได้ค่ะ


3.เริ่มแต่งบทประพันธ์กันเลยยย 🖉

เมื่อกำหนดหัวข้อ ตีความ และเรียงลำดับเรื่องราวเรียบร้อยแล้ว ให้เราเริ่มแต่งได้เลยค่ะแนะนำให้เขียนใส่กระดาษทีละวรรคแทนที่จะคิดเองในหัวทีเดียวนะคะ วรรคแรกเราคิดอะไรออก แต่งออกมาได้ยังไง เขียนไปก่อนเลยค่ะอย่าไปกลัว  เพราะถ้าเริ่มวรรคแรกได้เมื่อไหร่จะทำให้เราคิดวรรคต่อไปได้ง่ายมากขึ้น ไม่ต้องกังวลหากวรรคแรกของเรายังดูไม่เพราะ ไม่สวยงาม เพราะถ้าเราแต่งออกมาได้เรื่อย ๆ จะทำให้เราเห็นภาพรวมและกลับมาแก้ไขจุดบกพร่องได้ในภายหลังค่ะ


4.เล่นสัมผัส⭐

การเล่นสัมผัสในบทประพันธ์มีหลายรูปแบบค่ะ คือ 

สัมผัสนอก คือสัมผัสบังคับที่จะต้องสัมผัสในวรรคถัดไป โดยมีสระและตัวกดเหมือนกัน

ดังในตัวอย่างก็คือ นี้-ที่   ศัย-ใจ   ใจ-ไร้

ตัวอย่างสัมผัสนอก


สัมผัสใน คือสัมผัสที่อยู่ในวรรคเดียวกัน มีสองแบบคือสัมผัสสระ กับสัมผัสอักษร

สัมผัสสระ คือสัมผัสที่มีเสียงสระและตัวสะกดเหมือนกัน

ดังในตัวอย่างคือ ร้าย-กาย    เรา-เท่า    มี-ที่    ธา-อา    เหน็บ-เจ็บ    แสบ-แคบ    เร่-เอ


ตัวอย่างสัมผัสใน (สัมผัสสระ)


สัมผัสอักษร คือสัมผัสที่มีตัวอักษรเหมือนกัน หรือเสียงอักษรเหมือนกัน

ดังในตัวอย่างคือ ไม่-มี    หนาม-เหน็บ    คับ-แคบ    ไร้-รัง-เร่

ตัวอย่างสัมผัสใน (สัมผัสอักษร)


ความจริงแล้วสัมผัสที่บังคับในบทประพันธ์ส่วนใหญ่มีแค่สัมผัสนอก  นอกนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีจะทำให้บทประพันธ์ของเราไพเราะมากยิ่งขึ้นค่ะ


5.ใช้โวหารภาพพจน์🌼

อุปมา อุปลักษณ์ บุคคลวัต อติพจน์ นามนัย ฯลฯ ที่เรียนมาไม่เคยเสียเปล่าเลยค่ะ ใช้ได้เยอะมากกับการแต่งบทประพันธ์ หากเราเลือกใช้โวหารภาพพนจ์อย่างน้อยอันใดอย่างหนึ่งในบทประพันธ์ของเรา จะทำให้บทประพันธ์ของเราดูพรีเมี่ยม มีลูกเล่นเยอะขึ้นค่ะ 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก หรือยังไม่เข้าใจโวหารภาพพจน์ทั้งหมด ไปอ่านได้ที่ลิงค์นี่เลยยย โวหารภาพพจน์ฉบับเข้าใจง่ายยย สไตล์เพื่อนสอนเพื่อน 


6.ใช้คำหรูหราหมาเห่า🐶 ภาษาที่สละสลวย (คำไวพจน์)🌟⭐🌟

คำไวพจน์ก็คือ คำที่มีความหมายเหมือนกันแต่เขียนต่างกันค่ะ เช่น พระอาทิตย์-สุริยัน พื้น-พสุธา หัวใจ-ดวงฤทัย เช่นนี้เป็นต้นค่ะ การเปลี่ยนจากคำธรรมดา ๆ เป็นคำไวพจน์ จะทำให้บทประพันธ์เราดูไพเราะสวยงามขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว ประหนึ่งมีแสงสีทองแววับจับตาลอยออกมาเลยล่ะค่ะ ตัวอย่างเช่น 

"ดั่งสายน้ำรินไหลไม่จบสิ้น" เปลี่ยนเป็น "ดั่งธารารินไหลไม่จบสิ้น"

เห็นมั้ยคะแค่เปลี่ยนนิดเปลี่ยนหน่อยก็ดูเริศสะแมนแตนขึ้นมากกก 


หากนึกคำไม่ออก ทำยังไง ?😕

วิธีที่เราใช้ก็คือ ดูที่สระของคำที่เราต้องเชื่อมสัมผัสตัวต่อไปค่ะ เช่น

สมมุติว่าจะแต่งกลอนสี่ เริ่มวรรคแรกด้วย "เมืองไทยนี้ดี



คำที่ต้องสัมผัสกับตัวต่อไปคือคำว่า "ดี" ซึ่งเป็นสระอี จากนั้นให้ลองเอาสระอี ไปประกบกับพยัญชนะตัวอื่น ๆ ดูค่ะ อาจจะไล่ตั้งแต่ ก-ฮ เลยก็ได้ เช่น กี ขี คี ... อาจจะฟังดูแปลก ๆ ตอนไล่หน่อยค่ะ แต่เราต้องเจอคำที่ถูกใจและใช้ได้แน่นอน หรือถ้ายังไม่มีจริง ๆ ลองเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ดูค่ะ เช่น พี่ นี้ ที่ ชี้ จะประสมอักษรกับวรรณยุกต์ไหนก็ได้ แค่คงรูปสระไว้ก็พอค่ะ


✨ก็หมดไปแล้วนะคะสำหรับ "เทคนิคการแต่งคำประพันธ์ฉบับเข้าใจง่าย ถูกใจครูแน่นอน" หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ที่เข้ามาอ่านได้ไม่มากก็น้อยนะคะ ยังไงลองเอาไปปรับใช้กันดูน้าาา ขอให้แต่งคำประพันธ์ส่งครูได้คะแนนเต็มและได้เกรดสี่วิชาภาษาไทยกันทุกคนเลยยย 💯ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะคะ ฝากกดไลค์ 👍 คอมเมนท์💻บทความนี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้เราด้วยนะคะ นี่เป็นการเขียนบล็อกครั้งแรกของเราเลย ฝากด้วยนะคะ เดี๋ยวจะมาแชร์ความรู้และเทคนิคแบบนี้เรื่อยๆเลย🙏🏻🙏🏻🙏🏻


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โวหารภาพพจน์ฉบับเข้าใจง่ายยย สไตล์เพื่อนสอนเพื่อน

เทคนิคการแต่งโคลงสี่สุภาพ บทประพันธ์สุดหินของเด็กมัธยมมม

รีวิวหนังสือ ATOMPAKON